วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

Search Engine




Search Engine คืออะไร







Search Engine คือเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมดัชนีของเว็บเพจ หรือเว็บไซต์ในโลกนี้โดยใช้โปรแกรมตัวเล็กๆ ที่เราๆ ทุกคนอาจรู้จักในชื่อว่า Robot หรือ Spider นั่นเองครับ Search Engine มีการให้บริการที่ฟรีๆ อยู่สองลักษณะครับคือ

 1. การให้บริการทำดัชนีเว็บเพจและเว็บไซต์ด้วย Robot หรือ Spider เมื่อเว็บไซต์มีการอัพเดทเนื้อหาใหม่ๆ

 2. ให้บริการฟรีเครื่องมือค้นหาข้อมูลผ่านออนไลน์ (อันนี้คนใช้กันเยอะ)
      ในปัจจุบันนั้น Search Engine ถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายๆ กลุ่มด้วยกันครับ แต่ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักและใช้กันเป็นประจำเป็นจะเป็นกลุ่มที่ชื่อว่า “Crawler-Based Search Engines” เพราะเป็นกลุ่มที่มีการใช้ฐานข้อมูลและส่ง Spider หรือ Robot ไปทำการบันทึกข้อมูลหน้าเพจต่างๆ จากทั่วโลกเอามาจัดเก็บให้เป็นระเบียบและมีการจัดอันดับตามความเหมาะสมของเนื้อหานั้นๆ

      
 ข้อมูลที่ Spider หรือ Robot ทำสำเนานั้นจะได้รับการจัดเก็บเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ที่เีรียกว่า “Search Engine Index Server” เมื่อใดก็ตามที่มีคนค้นหาข้อมูลผ่านหน้าเว็บของ Search Engine ที่ให้บริการอย่างเช่น Google เจ้า Search Engine Index Server ก็จะทำการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่และแสดงผลออกมาให้ตรงตามความต้องการข้อมูลนั้น ๆ โดยวิเคราะห์จากความเหมาะสมของเนื้อหา และความสมบูรณ์ของเนื้อหา ซึ่งมีส่วนประกอบต่างๆ หลายอย่างด้วยกัน เช่น รูปแบบเนื้อหา Keywords และองค์ประกอบอื่นๆ ตามแต่ละที่นั้นกำหนดเอาไว้เพื่อวิเคราะห์ผล  
       

      ในกลุ่มนี้ก็ได้แก่ Google,Yahoo!,ฺBing (MSN Live) นั่นเองครับ ส่วนหน้าตาของ Search Engine ประเภทนี้นั้นก็แล้วแต่การออกแบบครับ และการวิเคราะห์ความแม่นยำในการนำแสดงเนื้อหาก็แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการพัฒนาของแต่ละแห่ง เพราะทุกอย่างที่ให้บริการนั้นล้วนเป็นความลับต่อกันทั้งสิ้น ตรงส่วนนี้เองทำให้เราสามารถใช้บริการ การค้นหา ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพราะเกิดการแข่งขันการให้บริการครับ เอาหละเราไปดูหน้าตาของแต่ละที่กันครับเริ่มจากยักษ์ใหญ่แห่ง Search Engine อย่าง Google



Google Search Engine





Yahoo! Search Engine




Search Engine มี 3 ประเภท 
      โดยมีหลักการทำงานที่ต่างกัน และ การจัดอันดับการค้นหาข้อมูลก็ต่างกันด้วยคะ เพราะมีลักษณะการทำงานที่ต่างกันนี่เองทำให้ โดยทั่ว ๆ ไปแล้วจะมีการแบ่งออกเป็นหลาย ๆ ประเภทด้วยกัน แต่ที่พอสรุปได้ก็มีเพียง3 ประเภทหลัก ๆ ดังที่จะนำเสนอต่อไปนี้

   ประเภทที่ 1 Crawler Based Search Engines

Crawler Based Search Engines คือ เครื่องมือการค้นหาบนอินเตอร์เน็ตแบบอาศัยการบันทึกข้อมูล และ จัดเก็บข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นจำพวก Search Engine ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื่องจากให้ผลการค้นหาแม่นยำที่สุด และการประมวลผลการค้นหาสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้มีบทบาทในการค้นหาข้อมูลมากที่สุดในปัจจุบัน


Crawler Based Search Engine  ได้แก่อะไรบ้าง จะยกตัวอย่างคร่าว ๆ ให้ได้เห็นกันเอาแบบที่เรา ๆ ท่าน ๆ รู้จักหนะครับก็ได้แก่ Google , Yahoo, MSN, Live, Search, Technorati (สำหรับ blog)  ส่วนลักษณะการทำงาน และ การเก็บข้อมูงของ Web Crawler หรือ Robot หรือ Spider นั้นแต่ละแห่งจะมีวิธีการเก็บข้อมูล และ การจัดอันดับข้อมูลที่ต่างกันนะครับ เช่น คุณทำการค้นหาคำว่า “Search Engine คืออะไร” ผ่านทั้ง 5 แห่งที่ผมให้ไว้จะได้ผลการค้นหาที่ต่างกัน  




ประเภทที่ 2 Web Directory หรือ Blog Directory

       Web Directory หรือ Blog Directory คือ สารบัญเว็บไซต์ที่ให้คุณสามารถค้นหาข่าวสารข้อมูล ด้วยหมวดหมู่ข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน ในปริมาณมาก ๆ คล้าย ๆ กับสมุดหน้าเหลืองครับ ซึ่งจะมีการสร้าง ดรรชนี มีการระบุหมวดหมู่ อย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้การค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ตามหมวดหมู่นั้น ๆ ได้รับการเปรียบเทียบอ้างอิง เพื่อหาข้อเท็จจริงได้ ในขณะที่เราค้นหาข้อมูล เพราะว่าจะมีเว็บไซต์มากมาย หรือ Blog มากมายที่มีเนื้อหาคล้าย ๆ กันในหมวดหมู่เดียวกัน ให้เราเลือกที่จะหาข้อมูลได้ อย่างตรงประเด็นที่สุด (ลดระยะเวลาได้มากในการค้นหา) ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างดังนี้





ODP Web Directory ชื่อดังของโลก ที่มี Search Engine มากมายใช้เป็นฐานข้อมูล Directory 

      1. ODP หรือ Dmoz ที่หลายๆ คนรู้จัก ซึ่งเป็น Web Directory ที่ใหญ่ที่สุดในโลก Search Engine หลาย ๆ แห่งก็ใช้ข้อมูลจากที่แห่งนี้เกือบทั้งสิ้น เช่น Google, AOL, Yahoo, Netscape และอื่น ๆ อีกมากมาย ODP มีการบันทึกข้อมูลประมาณ 80 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทยเราด้วย (URL : http://www.dmoz.org )

   
 2. สารบัญเว็บไทย SANOOK ก็เป็น Web Directory ที่มีชื่อเสียงอีกเช่นกัน และเป็นที่รู้จักมากที่สุดในเมืองไทย (URL : http://webindex.sanook.com ) 3. Blog Directory อย่าง BlogFlux Directory ที่มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับบล็อกมากมายตามหมวดหมู่ต่าง ๆ หรือ Blog Directory อื่น ๆ ที่สามารถหาได้จาก Make Many



ประเภทที่ 3 Meta Search Engine

      

      Meta Search Engine คือ Search Engine ที่ใช้หลักการในการค้นหาโดยอาศัย Meta Tag ในภาษา HTML ซึ่งมีการประกาศชุดคำสั่งต่าง ๆ เป็นรูปแบบของ Tex Editor ด้วยภาษา HTML นั่นเองเช่น ชื่อผู้พัฒนา คำค้นหา เจ้าของเว็บ หรือ บล็อก คำอธิบายเว็บหรือบล็อกอย่างย่อ
   

       ผลการค้นหาของ Meta Search Engine นี้มักไม่แม่นยำอย่างที่คิด เนื่องจากบางครั้งผู้ให้บริการหรือ ผู้ออกแบบเว็บสามารถใส่อะไรเข้าไปก็ได้มากมายเพื่อให้เกิดการค้นหาและพบเว็บ หรือ บล็อกของตนเอง และ อีกประการหนึ่งก็คือ มีการอาศัย Search Engine Index Server หลาย?ๆ แห่งมาประมวลผลรวมกัน จึงทำให้ผลการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ไม่เที่ยงตรงเท่าที่ควร.
   
  
     มาถึงตอนนี้หลาย ๆ ท่านที่เคยสงสัยว่า “Search Engine คืออะไร” คงได้หายสงสัยกันไปบ้างแล้วและเริ่มเข้าใจหลักการทำงานของ Search Engine กันมากขึ้น เพื่อจะได้เลือกใช้อย่างถูกต้องและตรงกับความต้องการของเราในการค้นหาข่าวสารข้อมูล สำหรับบทความ “Search Engine คืออะไร” นี้หากขาดตกบกพร่องประการใด หรือ ไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนท่านสามารถติชม หรือ ให้ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ผ่าน Comments ของบทความชุดนี้เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงและแก้ไขให้ได้ข้อมูลที่ดีที่สุดและ เป็นประโยชน์สำหรับ ผู้ที่ทำการค้นคว้างข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้งาน.








เว็บไซต์ www.siamguru.com แบ่งการค้นหาเป็น 4 รูปแบบคือ

ค้นหาเว็บไซต์ (Basic Search) เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วๆ ไปที่ยังไม่มีความรู้มากนัก
ค้นหาเว็บไซต์แบบซูเปอรเสิร์ช (Super Search) เป็นบริการสืบค้นข้อมูลแบบมีเงื่อนไข สำหรับการค้นหาที่มีการเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น
ค้นหาเพลง (Music Search) บริการค้นหาเพลง , เนื้อร้อง จากเว็บเพจต่างๆ โดยสามารถค้นหาได้จากชื่อเพลง ชื่อนักร้อง ชื่ออัลบั้ม หรือ คำร้องจากท่อนใดท่อนหนึ่งก็ได้
ค้นหารูปภาพ (Image Search) บริการค้นหา ภาพถ่าย ภาพกราฟฟิก ภาพการ์ตูน






วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550


พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550




ตอนที่ 1 การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ

             หลังจากที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้ถูกบัญญัติขึ้น และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการประกอบกิจการและการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำงานตามคำสั่งที่กำหนดไว้หรือทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาดจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใดๆ เข้าไปล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นเท็จหรือมีลักษณะลามกอนาจาร อาจก่อให้เกิดความเสียหายกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งความสงบสุขและศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จึงเกิดขึ้นเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำดังกล่าว กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนทั่วไปที่ใช้อินเทอร์เน็ต 




           จึงได้สรุปใจความสำคัญบางส่วนของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว โดยเริ่มจาก “มาตรา 5 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”ซึ่งการเข้าถึงในที่นี้หมายถึงการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ ทั้งในระดับกายภาพ ระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ทั้งหมดหรือเฉพาะบางส่วน และหมายรวมถึงการเข้าถึงฮาร์ดแวร์ หรือส่วนประกอบต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีการทุกวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นผ่านทางเครือข่ายสาธารณะ ผ่านระบบเครือข่ายเดียวกัน (Local Area Network หรือ LAN) หรือการเข้าถึงโดยการติดต่อสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless Communication) โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจะต้องเป็นระบบคอมพิวเตอร์ และผู้กระทำมีเจตนาในการกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ด้วย ทั้งนี้ การกระทำผิดโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรานี้อาจเกิดขึ้นได้หลายวิธี เช่น การเจาะระบบ (Hacking หรือ Cracking) หรือการบุกรุกทางคอมพิวเตอร์ (ComputerTrespass) เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางการใช้ระบบคอมพิวเตอร์โดยชอบของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ตอนที่ 2 การล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยมิชอบ


            จากเดิมที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เสนอมาตรา 5 การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ส่วนหนึ่งของพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไปแล้วนั้น คราวนี้จึงขอเสนอ มาตรา 6 การล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยมิชอบ ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ตามมาตรา 5 โดยมีเนื้อความว่า “มาตรา 6 ผู้ใดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้อื่นจัดทำเป็นการเฉพาะ ถ้านำมาตรการดังกล่าวไปเปิดเผยโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”    ซึ่งมีความหมายว่า การที่ผู้กระทำผิดล่วงรู้มาตรการป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ (password) รวมทั้ง วิธีการอื่นๆ ที่จัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะ แล้วนำมาตรการนั้นไปเปิดเผยโดยมิชอบแก่คนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นโดยเจตนา เช่น การใช้โปรแกรม keystroke ลักลอบบันทึกการกดรหัสของผู้อื่น แล้วนำไปโพสต์ไว้ในกระทู้ต่างๆ เพื่อให้บุคคลอื่นสามารถใช้ เป็นรหัสผ่านเพื่อเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้กระทำความผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ตอนที่ 3 การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ


               


            กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ขอเสนอสาระสำคัญของพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในตอนที่ 3 การเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ โดยจะกล่าวถึง มาตรา 7ซึ่งคล้ายกับมาตรา 5การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ เพียงแต่เปลี่ยนจากคำว่าระบบคอมพิวเตอร์เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ “มาตรา 7 ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” สำหรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้น หมายถึงข้อมูล คำสั่ง ชุดคำสั่งทุกอย่างที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ หากอยู่ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย 
             
           ดังนั้น หากมีการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีการป้องกันด้วยรหัสผ่านจากการได้รหัสผ่านนั้นมาด้วยวิธีการมิชอบ โดยข้อมูลนั้นจะต้องเก็บหรือส่งด้วยวิธีการทางคอมพิวเตอร์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ไม่รวมถึงข้อมูลที่บรรจุไว้ในแผ่นซีดี หรือแผ่นดิสเกตต์ แต่อย่างไรก็ตาม หากมีการนำแผ่นซีดีหรือแผ่นดิสเกตต์มาอ่านข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก็จะหมายความถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ทันที




ตอนที่ 4 การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ


    

            ในตอนที่ 4 นี้ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ข้อเสนอมาตรา 8 การดักข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสารผ่านทางระบบสื่อสารอื่นๆ อาทิ การห้ามดักฟัง และการห้ามลักลอบบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ โดยมีเนื้อหาดังนี้ “มาตรา 8 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดักรับไว้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”การดักรับข้อมูลในมาตรานี้หมายถึง การดักรับโดยมิชอบด้วยวิธีการทางเทคนิค เพื่อลักลอบดักฟังตรวจสอบ หรือติดตามเนื้อหาสาระของข่าวสารที่สื่อสารถึงกันระหว่างบุคคล และข้อมูลข่าวสารที่สื่อสารดังกล่าวนั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ใช้ประโยชน์รวมทั้งการกระทำเพื่อใดๆ ให้ได้ข้อมูลมา ไม่ว่าจะเป็นการได้ข้อมูลมาโดยตรงหรือการเข้าถึงข้อมูลโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการได้ข้อมูลทางอ้อม เช่น การลักลอบบันทึกข้อมูลที่สื่อสารถึงกันด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น 




            ทั้งนี้ การดักรับข้อมูลดังกล่าวจะไม่คำนึงว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้บันทึกข้อมูลนั้น จะเชื่อมต่อสายสัญญาณสำหรับส่งผ่านข้อมูลหรือไม่ เช่น การติดต่อผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ การใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สายประเภท Wireless LAN นอกจากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อบันทึกข้อมูลที่มีการส่งผ่านกันแล้ว ยังรวมถึงกรณีการใช้ซอฟต์แวร์หรือรหัสผ่านต่างๆ เพื่อทำ การบันทึกข้อมูลที่ส่งผ่านถึงกัน แต่ไม่รวมถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่จัดเก็บอยู่ในรูปแบบของแผ่นซีดี หรือแผ่นดิสเกตต์ อย่างไรก็ตาม แต่หากผู้ส่งใช้วิธีการส่งที่ไม่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลนั้น ผู้ดักรับจะไม่มีความผิด





ตอนที่ 5 การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ


         อีกมาตราหนึ่งที่น่าสนใจใน พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดความเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั่นคือ “มาตรา 9 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” สำหรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวนั้น หมายถึงข้อมูล คำสั่ง ชุดคำสั่งทุกอย่างที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ หากอยู่ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย หากผู้ใดทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมโดยมิชอบ ซึ่งไม่รวมถึงการปลอมแปลงเอกสาร ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามมาตรา 9  (การรบกวนข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ)        
       
            ตัวอย่างของการทำความผิดตามมาตรานี้ ได้แก่ การป้อนโปรแกรมที่มีไวรัสเพื่อทำลายข้อมูลหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เข้าไปในระบบเพื่อขโมยรหัสผ่านของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปใช้ในการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อมูลหรือกระทำการใดที่เป็นการรบกวนข้อมูล อย่างไรก็ตาม หากเป็นการกระทำของบุคคลที่มีสิทธิโดยชอบธรรมก็ไม่ถือเป็นความผิด เช่น การเปลี่ยนแปลงข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Traffic Data) เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารแบบไม่ระบุชื่อ และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพื่อการรักษาความลับและความปลอดภัยของการสื่อสาร (การเข้ารหัสข้อมูล หรือencryption) เป็นต้น

           ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของมาตรา 9 คือ ต้องการคุ้มครองความถูกต้องของข้อมูลความถูกต้องแท้จริง และเสถียรภาพหรือความพร้อมในการใช้งานหรือการใช้ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บันทึกเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์ได้อย่างเป็นปกติ จึงมีการกำหนดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกับสิ่งของอื่นๆที่สามารถจับต้องได้

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล : www.mict.go.th